คนจีนโพ้นทะเลที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศต่างๆ ตัวเลือกหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย การย้ายถิ่นฐานมาไทยเกิดขึ้นหลายระลอก การอยู่ร่วมกันทำให้วัฒนธรรมมีความกลมกลืน ไม่อาจแบ่งได้ชัดเจนว่าอะไรคือจีนแท้
ช่วงศตวรรษที่ 19 หรือช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่คนจีนย้ายถิ่นมาสยามระลอกใหญ่ที่สุด ขณะนั้นมีการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ไม่ว่าจะทำทางรถไฟ ขุดคลอง รวมทั้งมีการยกเลิกทาส ทำให้ประเทศต้องการแรงงานจำนวนมาก จึงเกิดกลุ่มแรงงานอิสระจำพวกใหม่คือ แรงงานกุลี เมื่อคนกลุ่มนี้สร้างความมั่งคั่งได้ ก็อยากใช้ชีวิตตามแบบผู้ดีเมืองจีน จึงเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าอยากเป็นผู้ดีจีนต้องเป็นระบบกงสี
ตามอารยธรรมจีนทุกคนต้องแต่งงานมีลูก มีลูกเยอะๆ เพราะต้องการแรงงานจำนวนมาก และนำทรัพย์สินมาบริหารร่วมกัน เมื่อแต่งงานผู้หญิงก็ต้องแต่งเข้าบ้านผู้ชาย ทรัพย์สินจึงแบ่งให้ลูกชายทุกคนเท่ากัน เมื่อทรัพย์สินถูกแบ่งให้ลูกชายหมายความว่าเมื่อแบ่งไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลายสินทรัพย์จะมีเล็กลงเรื่อยๆ ครอบครัวจึงต้องอยู่ร่วมกันแบบ “ระบบกงสี” เพื่อบริหารจัดการร่วมกันในครอบครัว เมื่อได้กำไรก็แบ่งให้ลูกชายตามหุ้น ดังนั้นหากมีลูกชายยิ่งมีหลายคนก็หมายความว่าสะใภ้คนนั้นมีสมาชิกในครอบครัวที่ได้เงินกงสีมากกว่า สถานภาพก็จะสูงขึ้น
เมื่อคนจีนที่ย้ายมาอยู่เมืองไทยและแต่งงานกับผู้หญิงไทย ก็จะได้รับอิทธิพลจากภรรยา และอายุขัยของผู้หญิงมีแนวโน้มจะมากกว่าผู้ชาย จึงทำให้คนที่จัดการมรดกมักจะเป็นภรรยา และวัฒนธรรมไทยมีการให้สินทรัพย์กับลูกสาว อีกอย่างครอบครัวของคนไทยให้ความสำคัญกับแม่ จึงเห็นว่าในประเทศไทยคนที่จัดการเรื่องไหว้เจ้า ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ทำ การจัดโต๊ะไหว้ก็เป็นแม่หรือผู้หญิงทำ ซึ่งต่างจากช่วงก่อนปฏิวัติวัฒนธรรมจีนหรือในไต้หวัน ที่การกราบไหว้บรรพชนเป็นหน้าที่ของผู้ชาย แล้วจะบูชาผู้ชายหรือบรรพบุรุษเป็นหลัก
ปัจจุบันนี้หลายอย่าเปลี่ยนแปลงไปแล้วตามกาลเวลา วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติ อาจไม่สามารถทำได้แบบเดิมแล้ว รวมทั้งมีกระแสอย่างอื่นที่เข้ามามีอิทธิพล ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น การทำธุรกิจที่มีกิมมิคความเป็นจีนก็กระจายออกเป็นวงกว้าง ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้ความเป็นจีนในปัจจุบันไม่เหมือนกับอดีต การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าความเป็นจีนยังไม่ตายจากไป
Credit from: https://thit.link/yG5vGXM