มีใครเคยงงกันบ้างว่าทำไมชื่อเมืองของประเทศจีนบางเมือง มีการสะกดเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า 1 แบบ เช่น เมืองปักกิ่งก็จะมีการสะกดทั้ง Peking และ Beijing เป็นต้น
นั่นก็เพราะว่า ชื่อแบบแรกคือ ชื่อเก่าที่ ‘ฝรั่ง’ เรียก ส่วนชื่อหลังคือ ชื่อที่จีนเรียกตัวเองในภาษาจีนกลาง ภายใต้ระบบการเขียนภาษาจีนที่เป็น Pinyin ซึ่งชื่อนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 1964 ก็มากถึง 60 ปีแล้ว
โดยการเขียนแบบหลังเป็นการเขียนตามแบบ Pinyin ถ้าจะเอาเลือกใช้แบบเป็นทางการ ทุกวันนี้การเขียนแบบนี้คือ การเขียนที่ถือว่าถูกต้องและเป็นมาตรฐาน
แต่ที่น่าสนใจคือการสะกดแบบแรก หรือแบบ “ฝรั่ง”
ตอนแรก ชื่อพื้นที่ต่างๆ ในจีนมีหลากหลายชื่อ แต่ละชาติก็เรียกต่างกันไป ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นักการทูตชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ไจล์ส (Robert Giles) ก็ได้เสนอระบบถอดชื่อสิ่งต่างๆ ในภาษาจีนให้เป็นระบบใหม่ในภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่แค่ชื่อเมือง แต่รวมถึงชื่อคน ชื่อราชวงศ์ในประวัติศาสตร์ด้วย
ความน่าสนใจก็คือ ระบบของโรเบิร์ต ไจล์ส นั้นไม่ได้ถอดเสียงแบบภาษาจีนกลาง แต่ถอดเสียงเป็นภาษาถิ่น เช่น เมืองที่คนจีนฮกเกี้ยนอยู่ ก็จะถอดเป็นภาษาฮกเกี้ยน หรือเมืองที่คนจีนกวางตุ้งอยู่ก็จะถอดเป็นภาษากวางตุ้ง เป็นต้น
ถ้าได้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่เขียเกี่ยวกับจีนช่วงครึ่งแรกถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ก็จะเป็นการสะกดตามแนวทางของไจล์ส เพราะมันเป็นระบบที่มีมาตรฐานและแพร่หลายที่สุดแล้วในยุคนั้น
แต่ก็อย่างที่เล่ามา ตั้งแต่จีนร่างระบบถอดคำภาษาจีนแบบทางการมาในปี 1964 มา แล้วค่อยๆ แพร่หลายขึ้นและเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ซึ่งก็คือเราจะเขียนชื่อต่างๆ ในจีนภายใต้ระบบ Pinyin ที่ถอดเสียงมาจากภาษาจีนกลาง
ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าคำที่สะกดตามแบบไจล์สจะหายไป โดยเฉพาะคำที่แพร่หลายก่อนที่จีนจะเผยแพร่วิธีสะกดแบบใหม่ ชัดๆ เลนก็คือ ชื่ออาหาร ทุกวันนี้เป็ดปักกิ่งก็ยังเรียกกันกว่า Peking Duck ไม่ใช่ Beijing Duck หรือวัฒนธรรมจีนกวางตุ้งที่เป็นวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลที่แพร่หลายที่สุด ก็ยังใช้คำว่า Cantonese ไม่มีใครพยายามจะเปลี่ยนเป็น Guangdonese เป็นต้น
กรณีของกวางโจวนี่ก็จะเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เพราะกวางโจวเป็นเมืองท่าสำคัญของจีนแรกๆ ที่ใช้ติดต่อกับชาวโลก จนทำให้คนนอกประเทศรู้จักในชื่อของ Canton มานานมากๆ เขาเลยไม่อยากเปลี่ยนชื่อ เช่น งานแสดงสินค้าใหญ่ของจีนที่จัดขึ้นที่เมืองกวางโจว เขาก็เรียกว่า Canton Fair ไม่ใช่ Guangdong Fair นั่นเอง