สงสัยกันหรือไม่! ทำไมบางคน “ไหว้เช็งเม้ง” ไม่ตรงวัน


เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่าวันไหว้เช็งเม้ง ปีนี้ (2566) ตรงกับวันพุธที่ 5 เมษายน แต่ตอนนี้ปลายเดือนมีนาคมก็เริ่มมีคนไหว้เช็งเม้งกันแล้ว หลายครอบครัวจะไหว้ตรงวันพอดี และก็ยังมีบ้านที่ไหว้หลังวันเช็งเม้งเช่นกัน ตกลงแล้ววันเช็งเม้งไหว้กันวันไหนกันแน่นะ
………………
การไหว้บรรพบุรุษของลูกหลานชาวจีนเริ่มได้ตั้งแต่วันชุงฮุง ปีนี้ตรงกับวันที่ 20-21 มีนาคม จนถึงช่วงวันเช็งเม้ง คือวันที่ 4-6 เมษายน คนจีนแบ่งสภาพอากาศตลอดทั้งปี เป็น 24 ปักษ์ โดยชุงฮุง เป็นชื่อสภาพอากาศในปักษ์ลำดับที่ 4 หมายถึง กึ่งฤดูใบไม้ผลิ และเช็งเม้งเป็นชื่อสภาพอากาศในปักษ์ลำดับที่ 5 หมายถึง สภาพอากาศแจ่มใส และเป็นช่วงเวลาที่สำคัญกับทางการเกษตร สภาพอากาศที่สดชื่น ท้องฟ้าแจ่มใสในฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้และดอกไม้เติบโตสวยงาม คนจีนก็เลยกำหนดให้ช่วงเวลานี้ได้ไปปัดกวาดสุสาน กราบไหว้บรรพบุรุษ

เมื่อคนในครอบครัวได้มารวมตัวกันในเทศกาลสำคัญ และสภาพอากาศที่ดี เป็นใจให้ท่องเที่ยว หลังจากไหว้เช็งเม้งแล้วคนก็จะออกเที่ยวกัน เรียกว่า “เที่ยววสันต์” จะเป็นช่วงก่อนหรือหลังวันเช็งเม้ง 10 วัน ซึ่งเป็นที่นิยมมากของประชาชนชาวจีนทั่วไป โดยกิจกรรมนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง
………………
บางครอบครัวที่ไหว้บรรพบุรุษหลังวันเช็งเม้ง จะเรียกว่า เทศกาลซ่างสื้อ หรือคนทั่วไปเรียกกันว่า กู่เช็งเม้ง หรือเช็งเม้งเก่า เป็นต้น เค้าของเทศกาลเช็งเม้งจากบันทึกโบราณ ในปีนี้ตรงกับวันที่ 22 เมษายน โดยทั้งเทศกาลชุงฮุง เช็งเม้ง และซ่างสื้อ ในอดีตทั้ง 3 เป็นเทศกาลที่ทั้งราชสำนักและประชาชนมีการกราบไหว้บวงสรวงอื่น แต่มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษเหมือนกัน เทศกาลชุงฮุงน่าจะเริ่มสมัยราชวงศ์โจว (503 ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. 322) เทศกาลซ่างสื้อมีในยุคชุนชิว (227 ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. 67) และเช็งเม้งเพิ่งเกิดในราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ. 551-763)

การไหว้เช็งเม้งในประเทศไทยสำหรับลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนแล้วนั้น ก็ไม่ได้เสพบรรยากาศช่วงฤดูใบไม้ผลิแบบประเทศจีน ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน การไหว้เช็งเม็งในประเทศไทยก็ตรงกับช่วงฤดูร้อน และเป็นเดือนที่ร้อนมากที่สุดในรอบปีเสียด้วย อย่างไรก็ดีควรเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกที่พอจะช่วยกันแดด ลดความร้อน หรือสร้างความสดชื่นเอาไว้ด้วยนะคะ จะได้ไม่เป็นลมกันไปเสียก่อน
………………
“ความเชื่อ” คือสิ่งที่ผู้คนยังคงทำสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมที่ต้องเดินควบคู่กันไป ส่วนประกอบที่มีทั้งหินและปูนแกะสลัก เสา ป้าย ฯลฯ ต้องจัดวางตามตำแหน่งให้ถูกต้อง เพราะเราเชื่อกันว่าสถาปัตยกรรมเพื่อบรรพบุรุษไร้ลมหายอย่าง “ฮวงซุ้ย” มีผลต่อระบบความสัมพันธ์และความรักใคร่ของลูกหลานภายในบ้าน ทุกอย่างจึงต้องเลือกสรรไว้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งความแข็งแรง สีสัน และการซ่อมบำรุง

Credit from: https://www.silpa-mag.com/history/article_29621
https://www.silpa-mag.com/history/article_85161

#ตงฮั้วเดลี่#ตำนานจีน#เช็งเม้ง#ลูกหลานชาวจีน#ฮวงซุ้ย

Press ESC to close