ระบบตระกูล”แซ่” นั้น เป็นการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีน ตั้งแต่อดีต โดย “ผศ.ถาวร สิกขโกศล” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมจีนลำดับต้นๆ ของไทย ระบุไว้ว่า 10 แซ่ใหญ่ที่ใช้มากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ “ตั้ง” “ลิ้ม” และ “หลี” อาจสลับขึ้นลงบ้างในลำดับที่ใกล้ๆ
“ดร.กิตติ อิทธิภากร” ประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย เล่าว่า ตระกูลแซ่แต่ละตระกูลมีประวัติ มีวัฒนธรรมของตระกูลนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ปีสืบทอดมาแต่ละรุ่น ในอาเซียนมีชาวจีนมาพำนักมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็น “ชาวจีนแต้จิ๋ว” โดยเฉพาะในไทย คาดว่ามีใช้เกิน 100 แซ่ แต่บางแซ่มีไม่กี่คน เช่นแซ่หนิว ซึ่งแปลว่า “วัว”
ปัจจุบันสหสมาคมตระกูลแซ่มีมากกว่า 70 กว่าตระกูลแซ่ โดยแซ่ที่สมาชิกเยอะที่สุด คือ “แซ่เฮ้ง” และ “แซ่ตั๊ง” หรือที่คนไทยชอบออกเสียงว่า “แซ่ตั้ง”
เกือบทุกตระกูลแซ่มีการสร้าง “ศาลเจ้าเหล่าโจ้ว” หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นศาลบรรพบุรุษให้ลูกหลานไหว้รำลึก พร้อมจัดงานสังสรรค์ทุกๆ ปี
ความแตกต่างระหว่าง”แซ่” ของจีนกับ “นามสกุล” ของไทยนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ในปกิณกคดีเรื่อง “เปรียบเทียบนามสกุลกับชื่อแซ่” ว่าแซ่ของจีนนั้นเป็นคณะหรือพวก หรือจะเทียบทางวัดๆ ก็คล้ายกับสํานัก ส่วนสกุลนั้น ตรงกับคําอังกฤษว่า “แฟมิลี่” ส่วนความแตกต่างในระหว่างแซ่กับสกุลนั้นก็คือ ผู้ร่วมแซ่ไม่ได้เป็นสายโลหิตกันก็ได้ แต่ส่วนผู้ร่วมสกุลนั้น ถ้าไม่ได้เป็นสายโลหิตต่อกันโดยแท้แล้วก็ร่วมสกุลกันไม่ได้ นอกจากที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพิเศษเท่านั้น
ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ แม้จะย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยไปไกลแสนไกล หรือชาวจีนโพ้นทะเลเอง ต่างก็มีระบบแซ่ที่ยึดโยงตนเองไว้กับรากเหง้า ทำให้ยังคงเดินทางกลับไปเยี่ยมเยือน ช่วยเหลือพัฒนาบ้านเกิดของตน และไม่เคยหลงลืมซึ่งรากเหง้าและบรรพบุรุษเช่นกัน