เรื่องหนึ่งที่คอซีรี่ส์หรือหนังจีนมักจะได้ยินเรื่อยๆ ก็คือ ข่าวเกี่ยวกับกองเซ็นเซอร์จีน ที่ให้แก้ไขฉากนั้นฉากนี้ คือสั่งห้ามฉายกับเรื่องบางเรื่องที่จะนำเข้าในฉายในประเทศจีน ก็อาจจะทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่ากองเซ็นเซอร์ในประเทศจีนเป็นอย่างไร ฉากแบบไหนที่จะโดนกองเซ็นเซอร์จัดการ วันนี้ตงฮั้วเดลี่จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ
การเซ็นเซอร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน (CFA) อยู่ภายใต้การดูแลของพรรครัฐบาลจีน ทำหน้าที่ “รักษาเสถียรภาพของระบบการกำกับดูแลสถานะที่เป็นอยู่ รวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ถือว่าอนาจาร เป็นอันตรายต่อศีลธรรมของเยาวชน การเมือง การใช้ความรุนแรง ขัดต่อวัฒนธรรมและความเชื่อ”
ตั้งแต่ผู้นำสีจิ้นผิงขึ้นมาดูแล กองเซ็นเซอร์ในประเทศจีนมีความสำคัญและมีงานหนักมากยิ่งขึ้น ได้ยกระดับแผนเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตและจัดตั้งฝ่ายบริหารไซเบอร์สเปซของจีนเพื่อดูแลเครือข่ายอิสระ ซึ่งครอบคลุมสื่อทุกประเภท ไม่ใช่แค่ทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือและอินเทอร์เน็ต ยังรวมถึงเกม การส่งข้อความด้วย สำหรับสื่อจากต่างประเทศ พวกการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นจะมีการป้องกันไม่ให้ชาวจีนเข้าถึงเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน
…………………….
สำหรับซีรี่ส์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศที่ต้องการจะนำเข้าไปฉาย ต้องผ่านตรวจสอบก่อน ซึ่งอาจจะต้องมีการตัดบางฉากออก หรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากเดิมไปบ้าง ในบางครั้งทางผู้สร้างก็เกิดการปฏิเสธไม่แก้ไขก็มี แต่ในปัจจุบันจีนเป็นตลาดภาพยนตร์อันดับ 2 ของโลก หนังระดับฮอลลีวูดหลายเรื่องก็ต้องยอมเพื่อให้ได้โอกาสฉายในประเทศจีน ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวก็เกิดขึ้นในหลายประเทศที่จะต้องตัดฉากเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมวงกว้างมากยิ่งขึ้น เช่น การตัดฉากที่มีความรุนแรงออก ในประเทศอังกฤษที่ตัดคำแสลงในการ์ตูน Ice Age 4 เพื่อให้เป็นภาพยนตร์ที่ดูได้ทั้งครอบครัว
…………………….
ในประเทศไทยก็กองเซ็นเซอร์ หรือคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่จะออกฉาย ปล่อยเช่า จำหน่าย จะต้องไม่มีเนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบและศีลธรรม หรือกระทบต่อความมั่นคงและเกียรติภูมิของประเทศไทยด้วย ซึ่งอาจจะมีคำสั่งให้แก้ไข ตัดทอนหรือไม่อนุญาตให้ฉายก็ได้ ในสื่อโทรทัศน์หรือออนไลน์ของไทยมีการจัดความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์กับผู้ชม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อผู้ชมสามารถเลือกชมได้เหมาะสมกับวัยและคนรอบข้างด้วย
ตงฮั้วเดลี่คิดว่าหลายคนอาจจะมองว่าการควบคุมดูแลในประเทศจีนค่อนข้างจำกัด แต่บางสถานการณ์ก็เห็นได้ว่าควรมีการกำกับดูแล อย่างเช่น การดูแลเวลาเล่นเกมของเด็กเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อดูแลสุขภาพและพัฒนาการของเด็กและเยาวชน หรือการจัดระเบียบกลุ่มแฟนคลับ มีการลงโทษผู้ที่กระตุ้นให้เกิดการทะเลาะวิวาทออนไลน์ในกลุ่มแฟนคลับ รวมถึงควบคุมการจัดอันดับหรือจัดแคมเปญที่ให้แฟนคลับจ่ายเงินสนับสนุนศิลปินด้วย อย่างที่เคยมีข่าวที่แฟนคลับต้องสั่งนมเพื่อทำการโหวต แล้วจัดการเทนมทิ้งท่อระบายน้ำเพราะไม่สามารถขายต่อหรือดื่มให้หมดได้ ส่งผลกระทบต่อมาไม่ว่าจะมลพิษ การจัดการขยะ รวมถึงการสิ้นเปลือง ซึ่งคนในสังคมจีนก็ยอมรับกันไม่ได้ด้วย
Credit from : https://www.dailynews.co.th/news/1390205/