เคยสังเกตไหมครับว่า ถ้าเรานำชื่อตัวละครสามก๊กในฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย แล้วลองไปเปรียบเทียบกับสามก๊กในเวอร์ชั่นภาษาจีน จะพบว่าชื่อตัวละครมีความแตกต่างกัน
นั่นก็เป็นเพราะว่า ชื่อของตัวละครในสามก๊กฉบับแปลไทยที่เราคุ้นเคยกันนั้น มาจากสามก๊กฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่จัดทำในสมัยรัชกาลที่ 1
แต่ทั้งชื่อตัวละครและชื่อสถานที่ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ได้ถอดเสียงแปลเป็นไทยจากภาษาจีนกลางแต่เป็นภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยน
ตัวอย่างเช่น โจโฉที่อ่านแบบสำเนียงจีนกลางว่า ‘เฉาเชา’ (Cao Cao 曹操) หรือเล่าปี่ที่มีชื่อสำเนียงจีนกลางว่า ‘หลิวเป้ย’ (Liu Bei 劉備)
หรือแม้กระทั่งบางตัวละครก็เปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ อย่างเช่นจูล่งขุนศึกคนสำคัญของเล่าปี่ ที่มีชื่อในสำเนียงจีนกลางว่า ‘จ้าวหยุน’ (Zhao Yun 趙雲) ซึ่งถ้าอ่านแบบฮกเกี้ยนจะอ่านว่า ‘เตียวหยุน’
แต่ชื่อเตียวหยุนนั้น ดันมีความคล้ายคลึงกับชื่อของน้องชายร่วมสาบานของเล่าปี่อย่างเตียวหุยหรือจางเฟย (Zhang Fei 張飛) ตามสำเนียงจีนกลาง
ด้วยเหตุนี้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงต้องใช้ชื่อรองของจ้าวหยุนซึ่งก็คือ ‘จื่อหลง’ (Zi Long 子龍) หรือจูล่งตามสำเนียงฮกเกี้ยน มาเป็นชื่อของตัวละครนี้แทนนั่นเอง