“หลวงปู่ไต้ฮงกง” เกิดที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน สมัยราชวงศ์ซ่ง ท่านเป็นบัณฑิตชั้นเอกเข้ารับราชการเป็นนายอำเภอ จนเมื่ออายุ 54 ปี ได้มาบวชเป็นพระและได้เผยแพร่ธรรมะมาอย่างยาวนาน
เมื่ออายุ 81 ปี หลวงปู่ไต้ฮงกงได้ธุดงค์มาถึง เมืองแต้จิ๋ว และได้ย้ายมาที่ “วัดเมี่ยนอันกวน” โดยที่นี่มักเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ท่านกับลูกศิษย์จึงได้ร่วมกันเก็บศพผู้ยากไร้ไปฝังให้โดยไม่รังเกียจ และยังตั้งศาลารักษาโรค เพื่อจัดหาอาหารให้แก่ผู้ยากไร้ที่เดือดร้อน
ท่านยังได้ช่วยเหลือคน ระดมกำลังชาวบ้าน สร้างสะพานตรงแม่น้ำเหลียงเจียง เพราะมักจะเกิดเรือล่มเพราะกระแสน้ำเชี่ยวอยู่เสมอ หลังท่านมรรภาพนั้น ชาวจีนทางตอนใต้ที่ศรัทธาในตัวท่าน ได้ก่อสร้างศาลเจ้าและรูปเคารพของท่านขึ้น โดยเชื่อกันว่าท่านจะประทานพรด้าน”ความสำเร็จและสุขภาพ”
ด้านความเชื่อของลูกหลานชาวจีนในไทยก็เช่นกัน ทำให้ช่วงตรุษจีนของทุกปีจึงมักมีคนนิยมมากราบไหว้ขอพร ซึ่งส่วนใหญ่มาขอด้านการงานและสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ เมื่อประสบผลดังใจแล้วหลายคนก็มักกลับมาขอบคุณหลวงปู่ไต้ฮงกงด้วย “อาหารเจ”
“ศาลเจ้าไต้ฮงกง” ถนนพลับพลาชัย ถือเป็นศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งแรกในไทย ในช่วงตรุษจีนผู้คนที่ศรัทธามักนิยมมาขอ “ฮู้ หรือ ยันต์จีน” ไปติดหน้าบ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี บางคนนำแผ่นฮู้พกติดตัวไว้ในกระเป๋า เพื่อให้อากงคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง โดยฮู้ของอากง หรือ หลวงปู่ไต้ฮงกงเป็นฮู้ตามแบบดั้งเดิมที่มีมาแต่จีนโบราณ เขียนด้วยอักษรจีนตรงกลางเป็นชื่อ “ไต้ฮงกง” และด้านข้างนั้นเขียนว่า “ให้ปกป้องคุ้มครอง”
สำหรับการพกพา “ฮู้” ของชาวไทยเชื้อสายจีนนั้นมีความเชื่ออยู่ 3 แบบด้วยกัน
1.นิยมเลี่ยมฮู้ของอากงใส่กรอบทำเป็นสร้อยคอให้เด็ก ๆ สวมติดตัว
2.เมื่อเจ็บป่วย ต้องนอนโรงพยาบาล มักจะนำฮู้ไปไว้ใต้หมอน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
3.เมื่อไปงานศพก็จะพกฮู้ไปด้วย เมื่อถึงบ้านจะเผาฮู้ลงในน้ำเพื่อทำเป็นน้ำมนต์เสริมสิริมงคลแก่ตนเอง