ทำไมจีนถึงกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก และสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า?
หนังสือชื่อ Subsidies to Chinese Industry กล่าวว่า ประเทศจีนผันตัวเองจาก “ผู้นำเข้าสินค้าทุน” มาเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ได้ ไม่ใช่เพราะค่าแรงราคาถูกในการผลิต
- เพราะในปีพ.ศ. 2543 จีนส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นมีสัดส่วนที่ 37%
- แต่ปีพ.ศ. 2553 เหลือเพียง 14%
และเมื่อศึกษาอุตสาหกรรมของจีน 5 ประเภท ได้แก่ แผงโซลาเซลล์ เหล็กกล้า กระจก กระดาษ และชิ้นส่วนรถยนต์ จึงทราบว่าค่าแรงเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของต้นทุนการผลิต เพียง 2-7% เท่านั้น ต้นทุนส่วนใหญ่เกิดจากวัตถุดิบและพลังงานการผลิต
เหตุที่ทำให้จีนสามารถขายสินค้าได้ในราคาถูกเพราะการอุดหนุนจากภาครัฐบาลส่วนกลางและมณฑล ซึ่งได้แก่ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือไม่มีดอกเบี้ย, การอุดหนุนด้านพลังงาน, อุดหนุนการจัดหาปัจจัยการผลิตและที่ดิน, และอุดหนุนในการวิจัยพัฒนาและการจัดหาเทคโนโลยี ซึ่งการอุดหนุนนี้ ทำให้ในปีพ.ศ. 2544 จีนสามารถขยายการผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 20% จากการสนับสนุนของรัฐที่มีต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและทำให้สินค้าสามารถขายได้ในราคาถูกกว่าผู้ผลิตจากประเทศอื่น ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในผู้ผลิตด้านอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ของโลก
ในบทความของ South China Morning Post (SCMP) เรื่อง China’s industrial subsidies กล่าวถึงการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากรัฐบาลว่า หน่วยงานของรัฐบาลจีนลงเงินสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้มีบริษัทจีนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก และใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี การประหยัดพลังงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการส่งออก การสร้างตราสินค้า และการขยายกิจการ เป็นต้น
คลายสงสัยกันได้ไม่ยาก เพราะด้วยเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่เข้าส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตของจีน ทำให้สินค้าของประเทศจีนกระจายไปทั่วโลกนั่นเอง!!!!