หากจะพูดถึงวีรบุรุษสงครามผู้มากด้วยกลยุทธต้นราชวงศ์ฮั่น คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “สามวีรบุรุษ” จางเหลียง เซียวเหอ และนักรบผู้ยิ่งใหญ่”หานซิ่น” เขาทั้งสามนั้นได้คอยช่วยเหลือ “หลิวปัง” ในการต่อกรกับ “เซี่ยวยวี่” จนสามารถสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นปกครองประเทศจีนได้
“หานซิ่น” เป็นชาวฮั่น บ้านเดิมอยู่ที่หวยอิน ปัจจุบันคือเมืองหวยอัน มณฑลเจียงซู เขานั้นเป็นวีรบุรุษผู้ร่วมก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก และเป็นนักยุทธศาสตร์ที่มีความโดดเด่นคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เขาได้ทำวีรกรรมทางทหารจนมีชื่อเสียงไว้มาก แต่ต่อมาโดนอิจฉาโดย “หลิวปัง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น จึงถูกคำสั่งข้อหากบฎและถูกประหารชีวิต
ในประวัติศาสตร์ยังมีบันทึกพิเศษ ชีวประวัติของหานซิ่น ที่มีชื่อว่า “สือจีหวยอินโฮวเลี่ยฉวน” ที่ยกย่องหานซิ่นว่าเป็น “นักคิดการทหารจีน” อีกทั้งหลิวปังยังเคยกล่าวไว้ว่า “การเอาชนะสงคราม การโจมตีต้องกระทำ แต่ไม่ใช่ข้าต้องเป็นหานซิ่น”
ย้อนกลับไปดูชีวประวัติของ “หานซิ่น” พื้นเพครอบครัวของเขานั้นเป็นชาวบ้านยากจนธรรมดา หาเลี้ยงชีพด้วยการตกปลาแบบอดๆ อยากๆ จนวันหนึ่งหญิงชราที่มาซักผ้าริมน้ำแบ่งอาหารให้เขา หานซิ่นรับมาด้วยความซาบซึ้ง และกล่าวว่า “หากวันหน้าได้ดีจะมาทดแทนคุณ” หญิงชราตอบกลับว่า “ข้าช่วยเจ้าด้วยความสงสาร ไม่ได้หวังให้มาตอบแทนคุณ เกิดเป็นชายชาตรี ไม่มีข้าวกิน แล้วจะมีปัญญาอะไรมาตอบแทนข้า” หานซิ่นได้ฟังก็อับจนคำพูด ได้แต่จดจำบุญคุณไว้ในใจ
ชีวิตหานซิ่นนั้นพบเจอแต่เรื่องที่เป็นบททดสอบในชีวต ที่ทำให้เขาต้องกล้าแกร่งขึ้นมา ครั้งหนึ่งเขาพบชายนักเลงอันธพาลยืนขวางทางไม่ยอมให้เดินผ่านไป และถ้าอยากไปก็ให้ลอดหว่างขาของตนไป หานซิ่นเห็นว่า คนผู้นี้เป็นคนพาล ไม่ควรมีเรื่องด้วย จึงยอมคลานลอดหว่างขา โดยไม่รู้สึกว่าเสียหน้าแต่อย่างใด เพราะสำหรับหานซิ่นถือว่า “ลูกผู้ชายยืดได้หดได้” จนทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้น กลายเป็นข่าวลือไปทั่วว่า หานซิ่นเป็นพวกไร้น้ำยาไม่เอาไหน, ไม่กล้า ไม่แน่จริง ขี้ขลาดตาขาว
ต่อมา หานซิ่นไปสมัครอยู่กับ เซียงเหลียง (อาของเซียงอี่ว์ หรือฌ้อปาอ๋อง) เซียงเหลียงจึงไม่ให้ความเชื่อถือและเรียกใช้ เพราะพื้นฐานครอบครัวหานซิ่นนั้นแสนธรรมดา และข่าวลือน่าอายข้างต้น เมื่อเซียงเหลียงเสียชีวิต หานซิ่นก็โอนย้ายอยู่กับ เซียงอี่ว์ แต่ก็ยังถูกละเลยเช่นเดิม
การเข้าสู้สนามรบของหานซิ่นนั้นมีที่มาที่ไป เกิดจาก “ฟานเจิง” ที่ปรึกษาของเซียงอี่ว์เห็นแววของหานซิ่น และพยายามเสนอให้เซียงอี่ว์ใช้งานหานซิ่นหลายครั้ง แต่เซียงอี่ว์ก็ไม่สนใจ จนในที่สุดฟานเจิงได้กำชับว่า “ถ้าไม่ใช้ให้รีบฆ่า อย่าให้ไปอยู่กับคนอื่น จะเป็นภัยในวันหน้า” แต่เซี่ยงอี่ว์ก็ชะล่าใจ ไม่จัดการอันใด จนเมื่อหานซิ่นหนีไปอยู่กับ “หลิวปัง” ทุกอย่างก็สายเกินไป
“จางเหลียง และ เซียวเหอ” สองวีรบุรุษที่ปรึกษาคนสำคัญของหลิวปัง เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นถึงความรู้ความสามารถของหานซิ่น พวกเขาเสนอหลิวปังให้ตั้งเป็นแม่ทัพ แต่หลิวปังก็เป็นเช่นเซียงอี่ว์ ที่รังเกียจชาติตระกูลและประวัติหานซิ่น แต่เพราะการที่หานซิ่นนั้นแสดงความสามารถให้เห็นเรื่อยมา จึงทำให้สุดท้ายหลิวปังก็เชื่อคําแนะนําของจางเหลียงกับเซียวเหอ ตั้งหานซิ่นเป็น “แม่ทัพ”
หานซิ่น คือหนึ่งในผู้ชำนาญในศิลปการสงคราม เป็นแม่ทัพผู้ปราดเปรื่อง และชำนาญกลศึก รอบรู้พิชัยสงครามชนิดที่ว่าหาผู้เสมอได้ยาก เพราะเป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้ ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก
ในการกลยุทธการทหาร “มากกว่าย่อมดีกว่า” (ตัวตัวอี่ส่าน,多多益善) หานซิ่นยังเป็นนักคิดกลยุทธ์การศึกแบบโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้กันอีกด้วย
กลยุทธ “หมิงซิวจ้านเต้า” (明修栈道) คือ กลยุทธใช้สถานที่อันตรายซึ่งเต็มไปด้วยหินพรุนและเป็นหน้าผาสูงชันก่อสร้างด้วยโครงไม้ทำเป็นช่องทางเดินสำหรับเดินทัพ ขนส่งเสบียงอาหารและสัมภาระ และยังสามารถใช้เป็นคาราวานเดินทางและเคลื่อนที่เร็วของกองทัพ
กลยุทธ “อันตู้เฉินฉาง” (暗渡陈仓) คือ กลยุทธสร้างความสับสนให้ศัตรูที่อยู่ตรงหน้า โดยการโจมตีอย่างคิดไม่ถึงจากด้านข้าง เป็นต้น
‼ด้วยการเป็นนักยุทธศาสตร์การทหาร “หานซิ่น” จากคนสามัญกลายเป็นแม่ทัพที่โดดเด่น เปรียบเสมือนซุนอูคนที่สอง คุณลักษณะที่โดดเด่นของเขา คือการปรับใช้กลยุทธอย่างยืดหยุ่น
เป็นนายพลที่มีความเชี่ยวชาญและความสามารถที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามจีน และในฐานะผู้บัญชาการรบ ลูกน้องที่อยู่ภายใต้เขา และคนอีกเป็นหมื่นซึ่งอยู่เหนือเขา ต่างได้รับชัยชนะ อีกทั้งเขายังช่วยเหลือกองทัพของฮั่นหวางหลิวปังออกจากเฉินฉาง สู่ซานฉิน ด้วยการโรยตัวด้วยเคเบิลเอาชนะกองทัพฉู่ แล้วแบ่งทัพมุ่งสู่ทางเหนือ หานซิ่นนั้นไม่เคยรบแพ้ และไม่มีใครกล้าเอาชนะเขาได้!!