ช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากจะซื้อข้าวของเตรียมไหว้เจ้ากันแล้ว หลายบ้านก็จะซื้อ “ตุ้ยเหลียน” มาเตรียมไว้ติดที่ประตูบ้าน เสาบ้าน หรือบริเวณที่เห็นได้ชัดๆ ในช่วงตรุษจีน เพราะตรุษจีนถือเป็นการเริ่มต้นปี เป็นเวลาของคนในครอบครัวที่จะมาอยู่ร่วมกันและส่งความปรารถนาดีต่อกันและกัน โดย “ตุ้ยเหลียน” คือ บทกลอนคู่รูปแบบหนึ่งที่มีความประณีตและกระชับ แต่ละข้างจะมีตัวอักษร 5-7 ตัว โดยทั้งสองข้างจะเป็นคำที่คล้องจองหรือมีความหมายเกื้อหนุนกัน เสมือนเป็นคำอธิษฐานขอพรในวันเริ่มต้นปีใหม่ให้ทุกคนในครอบครัว ดังนั้นการมอบชุนเหลียนให้เป็นของขวัญ ก็เหมือนการส่งมอบคำอวยพรให้ในรูปแบบหนึ่ง ตุ้ยเหลียนสามารถเขียนบทวัสดุที่หลากหลายทั้งกระดาษ ผ้า หรือแกะสลักลงบนไม้และหินก็ได้
ต้นกำเนิดของการติดกลอนคู่ตุ้ยเหลียนเกิดขึ้นในสมัยฉิน-ฮั่น ชาวบ้านนิยมแขวนยันต์เถาฝู ที่ทำจากไม้ท้อแววาดภาพมงคล ภาพเทพเจ้าหรือยันต์ โดยเชื่อว่าจะช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลภายในบ้านได้และต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี โดยนำไปให้นักพรตทำพิธีปลุกเสก การแขวนเถาฝูปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมาจนกระทั่งอาณาจักรถังล่มสลาย แผ่นดินจีนแตกออกเป็นหลายอาณาจักร อาณาจักรโห้วสู่หรือบริเวณเสฉวนในปัจจุบัน มีราชบัณฑิตนามว่า ซินอิ๋ยซุ่น เริ่มเขียนเถาฝูและเพิ่มอักษรที่มีความหมายมงคลเพิ่มเข้าไป เช่น โชคลาภ อายุวัฒนะ ขณะนั้นเจ้าผู้ครองแคว้นเห็นว่าการเขียนคำมงคลบนแผ่นไม้นำไปประดับที่หน้าประตูแสดงความเป็นมงคลและสื่อถึงความงดงามทางวรรณศิลป์ จึงได้เขียนกลอนลงบนเถาฝูเช่นกัน แต่งเป็นกลอนคู่ นับว่าเป็นตุ้ยเหลียนคู่แรกของโลก
ความนิยมตุ้ยเหลียนก็สืบทอดต่อเรื่อยมา ด้วยข้อความที่มีความหมายเป็นมงคลอันลึกซึ้งและแสดงถึงความงดงามทางศิลปะ ความสลวยของภาษาวรรณศิลป์ทำให้เกิดเป็นสีสันในสมัยต่างๆ เช่นในสมัยราชวงศ์หมิง นิยมเขียนตุ้ยเหลียนแขวนถาวรไว้ในห้องโถง อาคารสถานที่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในสถานที่นั้นๆ หรือในสมัยราชวงศ์ชิงที่ถือเป็นยุคสมัยที่กลอนตุ้ยเหลียนขึ้นสู่จุดสูงสุด มีการค้นพบตุ้ยเหลียนลายฝีพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ทั้งแบบกระดาษแขวนและแผ่นไม้แกะสลักมากถึง 500 ชิ้น แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของการแต่งตุ้ยเหลียนในสมัยราชวงศ์ชิงได้เป็นอย่างดี
ต่อมาตุ้ยเหลียนก็แยกประเภทออกไปทั้งเป็น ชุนเหลียน กลอนอวยพรปีใหม่ในช่วงตรุษจีน เห้อเหลียน กลอนอวยพรที่ใช้ในโอกาสต่างๆ ทั้งวันเกิด งานแต่งงาน การเลื่อนตำแหน่ง การคลอดบุตรหรือเปิดกิจการเป็นต้น และยังมีกลอนหว่านเหลียน ที่ใช้ในงานศพ แสดงถึงความโศกเศร้าอาลัยต่อผู้ที่จากไปนั่นเอง
ในช่วงเทศกาลตรุษจีน คนไทยเชื้อสายจีนก็จะนิยมหาซื้อตุ้ยเหลียน หรือกลอนคู่มงคลมาติดที่บ้านหรือร้านค้า เป็นการสืบทอดศิลปะและประเพณีอันมีความหมายลึกซึ้งให้คงอยู่ แม้ในปัจจุบันจะมีการเขียนกลอนด้วยฝีไม้ลายมือพู่กันน้อยมากแล้ว มักจะเป็นการพิมพ์สำเร็จรูปเพื่อค้าขายกันซะมากกว่า ถึงกระนั้นการติดตุ้ยเหลียนก็เป็นการเริ่มต้นอวยพรให้คนในครอบครัวและกิจการร้านค้าตั้งแต่ต้นปีและดีไปตลอดทั้งปี ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศในช่วงเทศกาลตรุษรจีนอีกด้วย
Cr