Art toy โด่งดังเป็นพลุแตกในยุคนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ใครจะรู้ว่าศิลปินไทยที่ดังในการออกแบบ Art Toy ก็มีอยู่ มาทำความรู้จัก “ริน ศิรินญา ปึงสุวรรณ” กันค่ะ
รินเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนที่จังหวัดอุดรธานี เธอชอบของเล่นและตุ๊กตา ไปไหนก็จะมีของเล่นตัวเล็กติดตัวไปเป็นเพื่อน เธอเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด เธอจึงเรียนแผนวิทย์และสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แท้จริงแล้วเธอนั้นชอบศิลปะเป็นอย่างมาก แต่ครอบครัวเห็นว่าการเรียนสายวิทย์นั้นมีทางเลือกกว่า เธอจึงตัดสินใจเลือกเรียนวิทย์ตามความสบายใจของครอบครัว
ตลอด 4 ปีที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น รินตั้งใจเรียนมาตลอด และไม่ลืมที่จะซึมซับตัวตนของตนเองด้วยการ เลือกใช้เวลาที่เหลือจากการเรียนไปในงานศิลปะ เธอไปทุกอีเวนต์ ดูงานวาดภาพ การออกแบบ งานปั้น ประติมากรรม คอสเพลย์ก็ไป จนเธอได้ไปงานอีเวนต์งานหนึ่ง เกี่ยวกับการเพนท์ผ้าพันคอ “แมวเก้าชีวิต” ศิลปินในงานนั้นเห็นเธอยืนดูงานตั้งแต่ต้นจนจบ เลยให้เพจของศิลปินหลายๆท่าน มาให้เธอติดตาม จนเธอได้ลองเรียนผ่านเฟสบุ๊ค ฝึกการทดลองปั้นต้นแบบและหล่อเรซิ่น เธอทำอยู่ 2 ปี จนทำเป็นในที่สุด
และคาแรกเตอร์ตัวแรกที่เธอสร้างสรรค์นั้นมีชื่อว่า “โต่ย” (Toi) คือ “กระต่าย” มาจากที่มาของเด็กที่พูดไม่ค่อยชัด โต่ยเป็นงานที่สื่อถึงความไม่สมบูรณ์ ไม่เป๊ะ เพราะเธอเชื่อว่าความไม่สมบูรณ์คือสิ่งที่สวยงาม โดยหูของโต่ยจะแหว่ง ร่างกายทั้งฝั่งซ้ายขวาจะไม่เท่ากัน และนั่นเป็นผลงานคาแรกเตอร์ตัวแรกของรินได้แสดงในงาน Art Toy ที่จัดที่หอศิลป์กรุงเทพ
เมื่อเรียนจบ รินสมัครเข้าทำงานบริษัท EQ Plus โดยที่เธอวาดรูปไม่เป็นเลย บริษัทให้คนจากฝ่ายศิลป์มาสอนพื้นฐานด้านศิลปะตั้งแต่ต้น เริ่มจากวาดเส้นตรง วงกลม แล้วค่อย ๆ ขยับไปทีละขั้น จนวันหนึ่งเธอได้ปั้นโมเดลตามคาแรกเตอร์ของบริษัท ในช่วงที่ทำโมเดล เธอนึกถึงช่วงเวลาตอนเป็นเด็กที่ได้เล่นกับตุ๊กตาและรู้สึกว่าตุ๊กตาเหล่านั้นมีชีวิต รินจึงสร้าง Fenni ขึ้นมาจาก Fennec Fox เพื่อให้เขาเป็นเพื่อน เป็นตัวแทนของความรัก เป็นคนรักเป็นคู่ชีวิตที่มีรักเดียว มีคู่ครองตัวเดียว และเธอยังคงความไม่สมบูรณ์แบบเอาไว้ผ่านทางร่างกายของ Fenni เพื่อเป็นสิ่งที่แทนว่า “Do you still love me, if I’m not perfect.”…
ตัว Fenni ได้ไปแสดงในงาน Thailand Toy Expo ครั้งที่ 3 และนั่นคือจุดเปลี่ยนความคิดของริน เมื่อมีบริษัทที่จีนมาบินมาคุยและเซ็นสัญญา ติดต่อให้รินไปร่วมงานอีเวนต์ที่นั่น โดยให้ทำตัว Fenni 2 โดยผลงานที่เธอนำไปนั้น ได้รับการประมูลเป็นเงิน 80,000 บาทต่อตัว ทำให้รินคิดได้ว่า ควรโฟกัสเรื่องการทำ Art Toy ให้จริงจังดีกว่า หลังจากนั้นรินได้รับเชิญไปประเทศจีนทุกเดือน (ปีละ 10 ครั้ง) เป็นเวลา 3 ปี ไปงานอีเวนต์สลับกับไปดูโรงงาน ทำให้เธอได้เห็นกระบวนการผลิตโมเดลทั้งหมด
สำหรับใครที่สนใจผลงาน Art Toy และต้องการติดตามศิลปิน “ริน” จากงานศิลปะหรืองานแสดง
เข้าไปตาม Facebook page: Poriin
Instagram: Poriin_Poriin ได้เลยนะคะ