วารสารเมืองโบราณได้เขียนบทความเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลนี้ไว้ วันนี้แอดขออนุญาตหยิบยกเรื่องราวนี้มาเล่าสู่กันฟังในมุมมองของตงฮั้วเดลี่ ในภาษาที่เข้าใจกันง่ายขึ้นนะคะ
ตามตำนานพงศาวดารนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้นมีมายาวนาน หลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่เรื่องของการเข้ามาตั้งรกรากในไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการกลืนเผ่าพันธ์เชื้อชาติโดยการแต่งงานระหว่างไทยกับจีนขึ้น ตั้งแต่ตำนานของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง และพระนางสร้อยดอกหมาก จนถึงตำนานสมัยพระเจ้าอู่ทอง ที่จะเห็นได้ชัดในเรื่องความสัมพันธ์ไทยจีน คือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต ที่กล่าวถึงพระโอรสของจีนที่ถูกเนรเทศ จนต้องเดินทางผ่านเรือสำเภาเข้ามาในไทย
และยังมีเรื่องที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ประเภทถ้วยชามของจีน ที่มีอยู่แทบทุกภาคของไทย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไทยนั้นรับอิทธิพลมากจากจีนไม่ว่าจะเป็น เรื่องเทคนิควิธีการเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ซ้อง หรือจะสมัยสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ก็มีเครื่องปั้นดินเผาที่รับอิทธิพลจากจีนมาจำนวนมากเช่นกัน
รวมถึงจิตรกรรมประดับสถานที่ต่างๆในไทยก็ได้รับอิทธิพลจากจีน เช่น ลวดลายเครือเถาใบไม้ ดอกไม้ ภูเขา รวมถึงสินค้าที่มาจากจีน ที่เป็นของมีค่าของจีน อย่างเครื่องสังคโลก ที่ไทยเรานำมาใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะ และใช้เป็นผอบบรรจุอัฐิ รวมถึงการสั่งทำเครื่องปั้นดินเผาจากจีน อย่าง เครื่องลายคราม เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องลายน้ำทอง
บทบาทของชาวจีนสมัยอยุธยานั้น นอกจากเป็นพ่อค้าแล้ว ยังมีบางพวกที่เข้ารับราชการ รวมถึงทำเกษตรกรรม และเป็นบทบาทที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าปัจจุบันนี้ไทยจีนผสาน ยากที่จะชี้ชัดว่าคนไหนจีนคนไหนไทย เพราะด้วยความผสมกลมกลืนกันมาแต่อดีตนั่นเอง
Credit from: https://thit.link/DvJItz7