“เหรียญจับโป้ยล่อฮั่น” เหรียญเก่าที่นิยม มงคล 18 อรหันต์ !!

ใครเคยเห็นบ้าง? “เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น” เหรียญที่ระลึกอันทรงคุณค่าในสมัย ร.5 เป็นเหรียญที่ประกอบพิธีเดียวกับ “พระกริ่งปวเรศ” (พระเครื่องรางที่นับถือว่ามีอานุภาพขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมพระเครื่อง) จึงเป็นที่นิยมสะสมอย่างสูงของบรรดานักนิยมสะสม ด้วยจำนวนสร้างน้อยมาก ทำให้เหรียญชนิดนี้หาได้ยากยิ่งนัก

เหรียญที่ระลึก “จับโป้ยล่อฮั่น หรือ 18 อรหันต์” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2434 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยเหรียญที่ระลึก “จับโป้ยล่อฮั่น” สร้างเป็นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองสีดอกบวบ เนื้อทองแดงแก่ทอง ฯลฯ

ลักษณะของเหรียญนั้นเป็นเหรียญทรงกลม ขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายเหรียญอีแปะเงินของจีนโบราณ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.6 เซนติเมตร ความหนา 2 มิลลิเมตร มีรูสี่เหลี่ยมตรงกลางเหรียญ ส่วนด้านหน้าของเหรียญ จำลองรูปพระอรหันต์ 18 องค์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษตามคตินิยมในพระพุทธศาสนา แบบมหายานฝ่ายจีน ซึ่งเรียกว่า “จับโป้ยล่อฮั่น”

องค์ที่ 1 “ปิณโฑล” พระอรหันต์ปราบมังกร
องค์ที่ 2 “ปินโฑล ภารัทวาช” เชื่อว่าใครสักการบูชาท่านจะมีกุศลมาก
องค์ที่ 3 “กนกวัจฉ” ท่านมีความสามารถในลัทธิธรรมต่างๆ
องค์ที่ 4 “กนกภารัทวาช” 1 ใน 7 มหาฤๅษี
องค์ที่ 5 “สุปินฑ” บรรลุธรรมเป็นพระอรหัตผลเมื่ออายุ 120 ปี
องค์ที่ 6 “นกุล” ท่านมีความรักสันโดษ
องค์ที่ 7 “ภัทร” ท่านเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปราบเสือได้
องค์ที่ 8 “กาลิก” พระที่พระเจ้าพิมพิสารนับถือ
องค์ที่ 9 “วัชรบุตร”
องค์ที่ 10 “สุปากะ”
องค์ที่ 11 “ปันถก” มีความยอดเยี่ยมในด้านปัญญา
องค์ที่ 12 “นาคเสน”
องค์ที่ 13 “อิงคท” เป็นมหาสาวกที่ร่างกายสะอาด มีกลิ่นหอม
องค์ที่ 14 “วันวาสี”
องค์ที่ 15 “อชิต” เป็นพระชรา
องค์ที่ 16 “จูฑะปันถก” เป็นมหาสาวกที่เดิมทีมีปัญญาโง่ทึบ แต่ต่อมาสามารถบรรลุอรหัตผล
องค์ที่ 17 “นนทิมิตร” ผู้มีพระอรหันต์เป็นบริวารมากที่สุดถึง 1,700 รูป
องค์ที่ 18 “ราหุล” ท่านเป็นพระพุทธชิโนรส

ด้านหลังเหรียญ มีอักษรไทยที่เขียนลักษณะเลียนแบบอักษรจีน ถ้าอ่านจากด้านบนลงล่างจะได้ความว่า “การทรงพระผนวช” ที่ด้านขวาจะเป็นอักษรย่อ “ส, พ, บ, ร, อ,” ย่อมาจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ด้านซ้ายเป็นปี “ปี ร.ศ.๑๑๐” เข้าพิธีพุทธาภิเษกโดย “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์” จึงถือเป็นเหรียญเก่าที่เป็นที่นิยมและหายากเหรียญหนึ่ง

Press ESC to close