ถ้าถามว่าคนไทยเชื้อสายจีนที่มีจำนวนมากที่สุดในไทยคือกลุ่มไหน คำตอบก็คือ ชาวจีนแต้จิ๋ว (Teochew 潮州) Cháozhōu
แม้ว่าหลายคนจะคุ้นเคยหรือรู้จักคำว่า “คนจีนแต้จิ๋ว” แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า คำว่าแต้จิ๋ว
มีความหมายหรือไม่ และถิ่นกำเนิดของชาวจีนแต้จิ๋วอยู่บริเวณใดของประเทศจีน
แต้จิ๋วเป็นสำเนียงที่คนไทยออกเสียง โดยสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า ‘เฉาโจว’ Cháozhōu
ขณะที่สำเนียงแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า ‘เตี่ยจิว’
แต้จิ๋วประกอบด้วยคำสองคำ คือแต้ (หรือ เฉา ในภาษาจีนกลาง) แปลว่า กระแสน้ำหรือคลื่นทะเลใหญ่ และจิ๋ว (หรือ โจว) แปลว่า เมืองหรือเขตปกครอง สอดคล้องกับการที่เป็นพื้นที่ที่มีกระแสน้ำไหลขึ้นลงตลอดเวลา
แต้จิ๋วเป็นชื่อของพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง โดยอยู่ติดกับมณฑลฮกเกี้ยนทางด้านตะวันออก แม้ว่าแต้จิ๋วจะเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง แต่ภาษาและวัฒนธรรมของคนจีนแต้จิ๋ว มีความใกล้เคียงกับคนจีนฮกเกี้ยนมากกว่า
แต้จิ๋วมีขนาดพื้นที่ 10,451 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ 1 ใน 3 เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อีก 2 ส่วนเป็นภูเขาสูง มีอาณาเขตติดกับชายฝั่งทะเลจีนใต้มากกว่า 325.6 กิโลเมตร
ในยุคราชวงศ์ฮั่น แต้จิ๋วถูกตั้งชื่อว่า เจียหยาง (หรือกิ๊กเอี๊ย ตามสำเนียงแต้จิ๋ว)
ต่อมาสมัยราชวงศ์จิ้น หลังรวมสามก๊กแล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น อี้อัน (หรือหงี่อัง ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) จนกระทั่งสมัยราชวงศ์สุย ที่เริ่มต้นใช้คำว่าเฉาโจวหรือแต้จิ๋ว เช่นปัจจุบัน
อย่างไรก็คำในภาษาจีนกลางที่ใช้เรียกแต้จิ๋วนิยมใช้คำว่า ‘เฉาซ่าน’ (หรือเตี่ยซัว ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) มากกว่าเฉาโจว โดยเฉาซ่านมาจากชื่อสองเมืองสำคัญในแต้จิ๋ว คือเฉาโจว (แต้จิ๋ว) กับซ่านโถว (ซัวเถา) นั่นเอง