“ไช่ หลุน”ผู้คิดค้นกระดาษและวิธีผลิตกระดาษชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

“ไช่ หลุน” หรือ “จิ้งจ้ง” เป็นขันทีชาวจีนซึ่งถือกันว่า คิดค้นกระดาษและวิธีผลิตกระดาษชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แม้ในประเทศจีนมีกระดาษหลายรูปแบบมาแต่ “ไช่ หลุน” ได้พัฒนาและสร้างมาตรฐานอันโดดเด่นให้แก่กระบวนการผลิตกระดาษเป็นครั้งแรก

สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก “ไช่ หลุน” กำเนิดที่มณฑลกุ้ยหยาง (มณฑลหูหนาน) แล้วเข้าเป็นขันทีราชสำนัก ต่อมาได้รับตำแหน่ง “ช่างฟางหลิง” รับผิดชอบผลิตศัสตราวุธยุทโธปกรณ์ พร้อมกับตำแหน่งจงฉางชื่อ จึงทำให้ “ไช่ หลุน” ข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งในราชสำนักหลายประการ เช่น “พระนางโต้ว” พระอัครมเหสีพระเจ้าจาง กับ “นางซ่ง” พระสนมของพระเจ้าจาง ชิงตำแหน่งรัชทายาทให้แก่โอรสของตน “ไช่ หลุน” ได้เป็นประธานกรรมการสอบสวนสนมซ่ง แต่สนมซ่งเสวยยาพิษตายระหว่างสอบสวน เป็นเหตุให้โอรสบุญธรรมของพระนางโต้วได้เป็นรัชทายาท และภายหลังได้เสวยราชย์เป็น “พระเจ้าเหอ” และเมื่อพระนางโต้วสิ้นพระชนม์ ทำให้ “ไช่ หลุน” ได้เป็นขันทีประจำองค์ “พระนางเติ้ง ซุย” พระอัครมเหสีของพระเจ้าเหอ

มีการบันทึกไว้ว่า “ไช่ หลุน” คิดค้นองค์ประกอบของกระดาษและวิธีผลิตกระดาษอย่างใหม่ โดยการแช่เปลือกไม้ที่อัดกันเป็นแผ่นแล้วลงในน้ำจนน้ำแห้ง แล้วทิ้งให้แผ่นเปลือกไม้นั้นแห้งเป็นแผ่นกระดาษเรียบบาง วิธีและอุปกรณ์ผลิตกระดาษในปัจจุบันซับซ้อนกว่าเดิมมาก แต่ยังคงใช้กลวิธีอย่างนี้อยู่เป็นหลัก จากการคิดค้นนี้ ทำให้ “ไช่ หลุน” ได้รับยกย่องจากพระเจ้าแผ่นดินในปีแรกแห่งรัชกาลเซี่ยวเหอ ว่าเขานั้นมีสติปัญญาอย่างยิ่ง และทำให้ทุกคนหันมาใช้กระดาษที่เขาคิดค้น และเรียกกระดาษว่า “กระดาษท่านไช่” พระเจ้าเหอโปรดผลงานของ “ไช่ หลุน” อย่างยิ่งจึงประทานลาภยศสรรเสริญหลายประการให้

ชีวิตบั้นปลายของ “ไช่ หลุน” นั้นกลับเปลี่ยน เมื่อ “พระนางเติ้ง ซุย” สิ้นพระชนม์ และนัดดาของ “สนมซ่ง” ที่ถึงแก่ความตายในการสอบสวนของ “ไช่ หลุน” นั้น ได้เถลิงราชสมบัติเป็น “พระเจ้าอัน” พระองค์รับสั่งให้ “ไช่ หลุน” ไปรายงานตัวที่กรมราชทัณฑ์ แต่ “ไช่ หลุน” กลับชำระร่างกายและแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยอาภรณ์แพรไหมอย่างดี แล้วบริโภคยาพิษปลิดชีพตนเองถึงแก่ความตายแทน

เมื่อ “ไช่ หลุน” ตายแล้วนั้น วิธีผลิตกระดาษของเขาได้แพร่หลายไปถึงเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม และเผยแพร่ ไปถึงซีกโลกตะวันตก โดยเข้าสู่ยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 เกิดการปฏิวัติวิธีสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างต่อเนื่อง และในช่วงสงครามครูเสด กระดาษอย่างจีนจึงได้รับความนิยมใช้กันแพร่หลายและช่วยส่งเสริมรากฐานของวิชาการในยุโรปอีกด้วย

Press ESC to close