เมื่อไปบ้านคนไทยเชื้อสายจีนจะเห็นว่ามีศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ที่บ้าน เปรียบเป็นสถานที่สถิตของเทพเจ้าประจำบ้าน หรือที่เรียกว่า “ตี่จู้” หรือ “ตี่จูเอี๊ย” โดย ตี่จู้ เป็นเสียงแต้จิ๋ว โดย ตี่ แปลว่า แผ่นดิน จู่ แปลว่า เจ้าของ ส่วนเอี๊ย แปลว่า ท่านผู้เป็นใหญ่หรือเทพ ดังนั้น ตี่จู้เอี๊ย จึงเป็นคำเรียกเทพเจ้าที่ประจำบ้านนั่นเอง
การตั้งตี่จู้เอี๊ยแทบจะไม่มีในแผ่นดินใหญ่แล้ว จะมีในไต้หวันและแหล่งชาวจีนโพ้นทะเลแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุที่ประเทศไทยนิยมมีตี่จู้เอี๊ยที่บ้าน เพื่อให้เทพเจ้าคุ้มครองตนที่อาศัยในต่างแดน และเป็นการแสดงความเคารพต่อแผ่นดินที่ตนมาพึ่งพาอาศัย
การตั้งตี่จู้เอี๊ยจะตั้งติดกับพื้นดินเท่านั้น นิยมหันหน้าออกไปทางประตูหน้าบ้าน ห้ามตั้งหันเข้ามาสู่ตัวบ้าน ใต้บันได ใต้คานบ้าน ติดกับห้องน้ำ หรือหลังบ้านเด็ดขาด
ตี่จู้มีเรื่องเล่าความเป็นมาอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ สมัยราชวงศ์โจว ปีที่ 2 มีขุนนางชื่อ “จางฝูเต๋อ” เป็นคนเฉลียวฉลาด กตัญญู เมื่ออายุ 36 ปี เข้ารับราชการเป็นขุนนางที่มีคุณธรรม สร้างคุณงามความดีให้บ้านเมือง เป็นที่รักของประชาชน เขามีอายุยืนยาวถึง 102 ปี หลังจากจางฝูเต๋อจากไป ประชาชนที่ทราบเรื่องก็สร้างศาลเล็กๆ ภายในบ้าน เพื่อขอให้ดวงวิญญาณของท่านช่วยปกป้องคุ้มครองประชาชนสืบไป
ส่วนเรื่องที่ 2 เหตุเกิดในสมัยราชวงศ์โจว ปีที่ 2 เช่นกัน โดยมีบ่าวผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งชื่อ “จางฝูเต๋อ” หรือ “จางหมิงเต๋อ” เป็นบ่าวรับใช้นายแพทย์ผู้หนึ่ง วันหนึ่งนายแพทย์ถูกเรียกให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นที่ห่างไกลบ้าน ทำให้มีเพียงบ่าวจางฝูเต๋อและบุตรีของท่านตามลำพัง ต่อมาจางฝูเต๋อจำเป็นต้องพาบุตรีนายแพทย์เดินทางไปพบบิดา ด้วยระยะทางที่ห่างไกลและลำบาก มีอากาศหนาว หิมะตก บ่าวจางฝูเต๋อสละเสื้อคลุมของตนให้บุตรีของนายจนตัวตาย ก่อนจะสิ้นลม ปรากฏตัวอักษร 9 ตัวขึ้นบนท้องฟ้า “南天门大仙福德正神” หมายถึง เทพผู้ทรงคุณธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งประตูสวรรค์ทิศใต้ เชื่อว่าอักษรนี้เป็นการประกาศคุณงามความดีของจางฝูเต๋อจากสวรรค์ เมื่อนายแพทย์ทราบเรื่องจึงสร้างศาลเล็กๆ ขึ้นเพื่อรำลึกถึงบ่าวผู้ซื่อสัตย์ ต่อมาเรื่องราวของจางฝูหมิงถึงพระกรรณของพรเจ้าโจวอู่หว่าง จึงพระราชทานหมวกอัครเสนาบดีและแต่งตั้งให้จางฝูเต๋อเป็น ถู่ตี้กง